ในหลายๆคนความรักคือสิ่งสวยงาม แต่ความรักไม่ได้เป็นสิ่งสวยงามสำหรับทุกคนเสมอไป เพราะขณะที่หลายคนกำลังชื่นมื่นกับอาการอินเลิฟ คนบางกลุ่มกลับเลือกที่จะหลีกหนีจากความรู้สึกที่มีผลเป็นลบกับตัวเขา วันนี้เราพามารู้จักกับโรคฟิโลโฟเบีย (Philophobia) หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า โรคกลัวความรัก จะเป็นอย่างไร ไปลองดูกัน
โรคฟิโลโฟเบีย (Philophobia)
เป็นภาวะป่วยทางจิต ซึ่งมีอาการปฏิเสธความรู้สึกพิเศษจากรูปแบบสัมพันธ์เชิงชู้สาว ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือรับความรักก็ตาม โดยเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ ต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือความรู้สึกรัก นอกจากจะทำให้รู้สึกกังวลใจแล้ว ยังมีผลข้างเคียงที่แสดงออกทางกายภาพด้วย ทั้งนี้แม้ผู้มีอาการดังกล่าวจะเป็นฝ่ายรู้สึกหวั่นไหวกับใครเสียเอง แต่สุดท้ายก็จะจบลงไม่สวย ด้วยเพราะไม่กล้าเปิดใจให้กับความรักนั่นเอง
อาการของผู้ป่วยเป็นโรคฟิโลโฟเบีย (Philophobia)
- ทนรับกับความรู้สึกหวั่นไหว ทั้งจากตัวเองหรือจากผู้อื่นไม่ได้ จนเครียด
- ปิดโอกาส ไม่เปิดใจกับใคร มักห้ามใจตัวเอง และปฏิเสธความสัมพันธ์ที่จริงจังกับใคร
- หลีกเลี่ยงกับอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีแต่คู่รักหรือฉากหวานซึ้ง
- รักสันโดษ ชอบอยู่คนเดียว และชอบสร้างกำแพงกับผู้อื่น จนอาจถูกมองว่าเป็นพวกโลกส่วนตัวสูง เพื่อปกป้องตัวเอง
- หวาดระแวง และระแวดระวังกับรูปแบบความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่เข้ามา
- เมื่อเผชิญกับสถานการณ์รักๆ ใคร่ๆ อาจมีอาการทางกายภาพอย่าง เหงื่อแตก ร้องไห้ ใจสั่น หัวใจเต้นรัวเร็ว หายใจแรง มือเท้าชา อาเจียน หรือถึงขั้น เป็นลมหมดสติ
สาเหตุของการเกิดโรคฟิโลโฟเบีย (Philophobia)
โรคนี้ จัดเป็นโฟเบียชนิดเฉพาะเจาะจง ซึ่งพบเป็นอันดับต้นๆ และก็มาจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งจากสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ แยกได้ดังต่อไปนี้
- เติบโตจากครอบครัวที่มีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว จนปลูกฝังกลายเป็นทัศนคตริไม่ดี ฝังลึกมาตั้งแต่เด็กๆ
- การหล่อหลอมทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี หรือศาสนาที่เข้มงวด จนหล่อหลอมซึมลึกเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก จากความเกรงกลัวต่อบทลงโทษ
- ประสบการณ์ความรักที่ล้มเหลวซ้ำซาก จนเกิดเป็นบาดแผลฝังลึกให้กับจิต ทำให้ไม่อยากต้องมีความรัก ที่สุดท้ายก็จะต้องผิดหวังอีก
ทั้งนี้ สำหรับใครที่ต้องสงสัยตัวเองว่าอาจป่วยเป็นโรคนี้ ก็อย่าพึ่งตื่นตกใจไป เพราะโรคนี้ไม่ถือเป็นอาการทางจิตที่ร้ายแรง แต่หากส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน หรือลามไปถึงคนรอบข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลายมาเป็นผลเสียต่อสุขภาพตัวเราด้วยแล้ว ก็ควรเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์เป็นดีที่สุด ซึ่งการรักษานั้น ก็มีตั้งแต่ให้สื่อบำบัด การฝึกให้เผชิญหน้า ไปจนถึงการรักษาด้วยยา ซึ่งงทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน
ถึงแม้การไปรักคนอื่นจะเป็นเรื่องยากที่เราจะทำได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือควรรักตัวเอง เพราะไม่มีใครรักเราได้ดีเท่าเราอีกแล้ว